มารู้จักกับพันธบัตร ตราสารหนี้ หุ้นกู้
นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะคุ้นเคยกับตราสารทุน หรือ หุ้น เนื่องจากเป็นตราสารหนี้ที่เข้าใจง่าย ไม่มีความซับซ้อน แต่หากกล่าวถึงตราสารหนี้ หลายท่านก็มักจะเริ่มทำหน้าสงสัย แต่เมื่อกล่าวถึงพันธบัตรออมทรัพย์ หุ้นกู้ และตั๋วแลกเงิน ก็จะเริ่มถึงบางอ้อ บางท่านก็อาจจะเคยลงทุนบ้างแต่ก็มักจะไม่ทราบว่าทั้งหมดนี้เรียกโดยรวมว่า ตราสารหนี้ และไม่ทราบว่าตราสารหนี้เหล่านี้แตกต่างกันอย่างไร ทำไมถึงต้องมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน
ตราสารหนี้ โดยหลัก ๆ แล้ว ออกโดย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
- รัฐบาล / หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะประกอบไปด้วย 3 องค์กรย่อย ได้แก่
1.1 รัฐบาล(Government)
• ตั๋วเงินคลัง (Treasury bill): เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น มีอายุไม่เกิน 365 วัน
• พันธบัตรรัฐบาล (Loan bond): เป็นตราสารหนี้ระยะยาว มีอายุตั้งแต่ 365 วัน
1.2 ธนาคารแห่งประเทศ (Bank of Thailand)
• ตั๋วเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (Central bank bill): เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น มีอายุไม่เกิน 365 วัน
• พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand bond): เป็นตราสารหนี้ระยะยาวมีอายุตั้งแต่ 365 วัน
1.3 รัฐวิสาหกิจ (State-owned-enterprise)
• พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (State-owned-enterprise bond): เป็นตราสารหนี้ระยะยาว มีอายุมากกว่า 365 วัน - บริษัทเอกชน (Corporate company) ตราสารหนี้ที่ออกโดยกลุ่มนี้จะเรียกโดยรวมว่า หุ้นกู้ (Corporate bond)ทั้งนี้ สามารถเลือกออกเป็นระยะสั้น ซึ่งมีอายุไม่เกิน 270 วัน หรือ ระยะยาว ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 270 วัน ก็ได้
- องค์กรต่างประเทศ (Foreign) ตราสารหนี้ที่ออกโดยกลุ่มนี้จะเรียกว่า ตราสารหนี้ต่างประเทศ (Foreign bond) โดยอาจจะเป็นบริษัทต่างชาติ หรือ หน่วยงานภาครัฐต่างชาติก็ได้ ส่วนใหญ่มักออกเป็นตราสารหนี้ระยะยาว
• หุ้นกับหุ้นกู้ต่างกันอย่างไร
“หุ้นกู้” จัดเป็นตราสารหนี้ ผู้ถือตราสารหรือนักลงทุน “มีสถานะเป็นเจ้าหนี้” ผลตอบแทนที่ได้จะมีความสม่ำเสมอและแน่นอนโดยอยู่ในรูปของดอกเบี้ย (Interest) ตลอดอายุตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ โดยความเสี่ยงจะขึ้นอยู่กับอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้ (Credit rating) ว่าบริษัทนั้นมีความแข็งแกร่งเพียงใด มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นหรือไม่
“หุ้น” จัดเป็นตราสารทุน ผู้ถือตราสารหรือนักลงทุน“มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของร่วมในบริษัท” ผลตอบแทนที่ได้จะไม่แน่นอน โดยจะมีทั้งส่วนต่างราคาหุ้น (Capital gain) ซึ่งมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงผันผวนของราคาได้ทุกวัน (อาจจะกำไรหรือขาดทุนก็ได้) และมีเงินปันผล (Dividend Yield)ซึ่งจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับผลกำไรของบริษัท
ความแตกต่างที่สำคัญอีกอย่างระหว่าง ตราสารหนี้ กับ ตราสารทุน ก็คือ ในกรณีที่ผู้ออกตราสารไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้และอยู่ในสภาพล้มละลาย สิทธิการเรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัทผู้ออกตราสารจะแตกต่างกัน โดยผู้ถือตราสารหนี้ซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกร้องความเสียหายได้ก่อนผู้ถือตราสารทุนที่มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นไม่ว่าจะเป็นหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิก็ตาม
ดังนั้น โดยสรุปสั้น ๆ
“หุ้นกู้” คือ การลงทุนในรูปแบบ “ให้ยืมเงิน (ผู้ลงทุนเป็นเจ้าหนี้)” ผลตอบแทนแน่นอน
“หุ้น” คือ การลงทุนในรูปแบบ “ร่วมเป็นผู้ถือหุ้น” ผลตอบแทนไม่แน่นอน
ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง หุ้น และ หุ้นกู้
• การลงทุนในตราสารหนี้มีประโยชน์อย่างไร
- ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินกับธนาคาร แต่มีความเสี่ยงที่ต่ำใกล้เคียงกัน: ปัจจุบัน การฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์กับธนาคารให้ดอกเบี้ยน้อยกว่าพันธบัตรออมทรัพย์ที่ถือว่าปราศจากความเสี่ยงในเรื่องการผิดนัดชำระหนี้และหากผู้ลงทุนสามารถยอมรับความเสี่ยงในระดับที่สูงขึ้นได้ ก็สามารถที่จะเลือกลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่มีความน่าเชื่อถือและมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งได้ซึ่งจะเสนออัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ขึ้นไปอีก
- เป็นแหล่งรายได้ที่สม่ำเสมอและคาดการณ์ได้: ตราสารหนี้เป็นพันธะสัญญาที่ระบุไว้อย่างชัดเจนให้ผู้ออกตราสารหนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยตามจำนวนงวดที่ระบุไว้ให้แก่ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ จนกระทั่งเมื่อครบกำหนดอายุไถ่ถอนก็จะต้องจ่ายคืนเงินต้นทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้าย (ถ้ามี)อีกด้วย ทำให้ง่ายต่อการคาดการณ์ว่าในแต่ละปีจะมีรายได้จากดอกเบี้ยปีละเท่าไร และจะได้ในช่วงเวลาใด จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการรายได้ที่แน่นอนสม่ำเสมอ
- เงินลงทุนมั่นคงปลอดภัย: ตราสารหนี้ของภาครัฐถือเป็นการลงทุนที่ปลอดภัยไม่มีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (Risk-free) เนื่องจากมีรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ออกตราสารหนี้ ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนนักลงทุนสามารถที่จะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทที่สนใจลงทุนได้จาก อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating)ดังภาพ ซึ่งจะเห็นว่ายิ่งอยู่ในอันดับที่สูงก็ยิ่งมีความเสี่ยงต่ำ
- ตัวช่วยในการลดความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอการลงทุน:เนื่องจากตราสารหนี้จัดเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ จึงทำให้กลายเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่เป็นที่นิยมในการนำไปใช้ประกอบการจัดกลุ่มสินทรัพย์ลงทุน (Asset Allocation) เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอการลงทุน
- สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ โดยไม่ต้องรอครบกำหนดอายุไถ่ถอน: ตราสารหนี้มีตลาดรองที่เปิดให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือได้โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันครบกำหนดอายุ อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ผู้ลงทุนต้องพึงระวัง คือ สภาพคล่องในการซื้อขายซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามแต่ตราสารหนี้นั้น ๆ
• ตราสารหนี้มีกี่ประเภท
ผู้ที่ออกตราสารหนี้สามารถออกได้โดย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาครัฐ บริษัทเอกชน และองค์กรต่างประเทศ อย่างไรก็ตามตราสารหนี้ที่ออกเหล่านี้สามารถออกได้หลากหลายประเภทและมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับผู้ออกว่าต้องการกำหนดให้ตราสารหนี้แต่ละรุ่นมีลักษณะอย่างไรบ้าง ดังต่อไปนี้
แบ่งตามลำดับสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้
แบ่งตามรูปแบบดอกเบี้ย
แบ่งตามวิธีการชำระคืนเงินต้น (Principle payment)
แบ่งตามเงื่อนไขพิเศษที่แฝงในตราสารหนี้ (Options)
แบ่งตามประเภทอื่นๆ
- ตราสารหนี้มีประกัน (Secured bond) ตราสารหนี้ประเภทนี้ผู้ออกจะนำสินทรัพย์ซึ่งอาจเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน ตึก หรือ สังหาริมทรัพย์ เช่น สินค้าในโรงงาน มาเป็นหลักประกันในการออก โดยผู้ลงทุนหรือผู้ถือจะมีบุริมสิทธิเหนือสินทรัพย์นั้น โดย ก.ล.ต. บังคับว่าหุ้นกู้ประเภทนี้จะต้องจัดให้มี “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” ทำหน้าที่แทนผู้ถือหุ้นกู้ในการรับจำนอง จำนำ หรือรับหลักประกัน และใช้สิทธิบังคับหลักประกัน รวมทั้งตรวจสอบสถานะของสินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันด้วยทำให้ตราสารหนี้ประเภทนี้จัดเป็นเจ้าหนี้ลำดับต้นๆ ที่มีสิทธิในการเรียกร้องชำระหนี้
การออกตราสารหนี้ประเภทนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้แก่นักลงทุน ในบางกรณีบริษัทเอกชนบางรายอาจมีฐานะทางการเงินไม่ดีพอที่จะดึงดูดนักลงทุนให้มาซื้อตราสารหนี้ได้ จึงต้องใช้หลักประกันมาช่วยเสริม หรือในกรณีที่เป็นการออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุนในการสร้างโครงการใดๆ ก็สามารถนำทรัพย์สินของโครงการนั้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้
- ตราสารหนี้ไม่มีประกัน(Unsecured bond) ตราสารหนี้ประเภทนี้จะไม่ได้จัดให้มีหลักประกันใดๆ ในการออก โดยผู้ออกตราสารหนี้ชนิดนี้สามารถออกให้เป็นตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior bond) ซึ่งจะมีฐานะเทียบเท่าเจ้าหนี้สามัญทั่วไปของบริษัทหรืออาจออกให้เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated bond) ที่มีการกำหนดสิทธิของผู้ถือไว้ต่ำกว่าสิทธิของเจ้าหนี้สามัญทั่วไปก็ได้
2.1 ตราสารหนี้ด้อยสิทธิ (Subordinated bond) ตราสารหนี้ประเภทนี้ นักลงทุนหรือผู้ถือ แม้ว่าจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้แต่จะมีสิทธิที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆในการเรียกร้องการชำระหนี้จากบริษัทผู้ออกหากมีการผิดนัดชำระหนี้หรือล้มละลาย แต่ยังได้รับสิทธิเรียกร้องก่อนผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และหุ้นสามัญ
2.2 ตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ (Seniorbond) ตราสารหนี้ประเภทนี้ นักลงทุนหรือผู้ถือจะมีสิทธิทัดเทียมกับเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆในการเรียกร้องให้ชำระหนี้ โดยได้สิทธิเรียกร้องก่อนผู้ถือตราสารหนี้ด้อยสิทธิ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และผู้ถือหุ้นสามัญตามลำดับ
การแบ่งประเภทตราสารหนี้ตามสิทธิการเรียกร้องทั้งสองกรณีข้างต้นนี้ จะเกิดขึ้นเฉพาะในกรณีที่จะมีการเฉลี่ยทรัพย์หรือการชำระบัญชีบริษัท เนื่องจากบริษัทผู้ออกตราสารถูกพิทักษ์ทรัพย์ ถูกพิพากษาให้ล้มละลาย มีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ หรือกรณีอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. แต่ถ้าไม่มีกรณีดังกล่าว การชำระดอกเบี้ยและเงินต้นในระหว่างงวดหรือเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนจะเป็นไปตามปกติที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน