นายนาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) เปิดเผยว่า บลจ.กสิกรไทยทยอยจัดตั้งกองทุน Term Fund Plus อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลาง
และกำลังมองหาโอกาสรับผลตอบแทนเพิ่มในช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว ซึ่งที่ผ่านมากองทุนได้รับความสนใจและเสียงตอบรับจากผู้ลงทุนเป็นจำนวนมาก ทำให้สามารถปิดการขายได้อย่างรวดเร็วและระดมทุนได้สูงถึง 61,619 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 25 ก.พ. 64) ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทยเตรียมออก Term Fund Plus กองใหม่ชื่อว่า กองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ต่างประเทศ 2022E (KFF22E) โดยเปิดเสนอขายครั้งแรก (IPO) ในระหว่างวันที่ 5-12 มีนาคม 2564
นายนาวินกล่าวต่อไปว่า ความน่าสนใจของกองทุน Term Fund Plus อยู่ตรงที่กองทุนใช้กลยุทธ์ Buy & Maintain ที่เน้นกระจายลงทุนในตราสารหนี้กว่า 80 ตราสาร ซึ่งมากกว่ากองทุน Term Fund ทั่วไป และลงทุนในตราสารหนี้ Investment Grade ไม่น้อยกว่า 70% รวมถึงกระจายลงทุนบางส่วนในเงินฝากต่างประเทศ เพื่อลดความผันผวนให้พอร์ตการลงทุน
ทั้งนี้ กองทุน KFF22E จะเน้นลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดีทั่วโลกโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ผ่านกองทุนต่างประเทศ Invesco Asian Bond Fixed Maturity Fund 2022 – VI, Class C(USD)-Acc ในสัดส่วนประมาณ 60% ของพอร์ต ซึ่งบริหารจัดการโดย Invesco บลจ.ชั้นนำระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการกองทุนตราสารหนี้ ส่วนที่เหลือประมาณ 40% บลจ.กสิกรไทยนำไปบริหารโดยกระจายลงทุนในเงินฝากต่างประเทศ ได้แก่ เงินฝาก PT Bank Rakyat Indonesia (ประเทศอินโดนีเซีย), เงินฝาก Qatar National Bank (ประเทศกาตาร์) และเงินฝาก Bank of China (สาธารณรัฐประชาชนจีน)
อย่างไรก็ดี กองทุน Term Fund Plus เหมาะสำหรับผู้ที่มองเห็นโอกาสจากการกระจายลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝากต่างประเทศ โดยสามารถถือครองหน่วยลงทุนเป็นเวลา 1 ปีได้
นายนาวินกล่าวเพิ่มเติมว่า บลจ.กสิกรไทยขอสงวนสิทธิ์เฉพาะในวันที่ 5 มีนาคม 2564 เริ่มเปิดขายตั้งแต่เวลา 11.00 น.เป็นต้นไป สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเริ่มต้นลงทุนได้เพียง 500 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน K PLUS หรือ K-My Funds หรือธนาคารกสิกรไทยทุกสาขาทั่วประเทศ โดยเมื่อกองทุนครบกำหนดอายุโครงการ เงินค่าขายคืนอัตโนมัติจะถูกนำไปซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนเปิดเค ตราสารรัฐระยะสั้น (K-TREASURY) หรือกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ระยะสั้น (K-SF) ตามที่ผู้ลงทุนได้แจ้งความประสงค์ไว้เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง
โครงการ “เราชนะ” และ “ม.33 เรารักกัน” ที่รัฐบาลสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระ มีคนที่ไม่ได้รับสิทธิอยู่ 2 กลุ่มหลักๆ คือ
มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท (ปีภาษี 2562) ซึ่งโชคดีที่ไม่ได้นับมาเป็นเกณฑ์กับโครงการ ม.33 เรารักกัน
กับ มีเงินฝากรวมทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท (ณ 31 ธ.ค. 2563)
แม้ว่ามนุษย์เงินเดือนที่หักเงินเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน ถ้าลงทะเบียนโครงการ ม.33 เรารักกัน จะยกเว้นคุณสมบัติเงินได้พึงประเมิน โดยวงเงินที่ได้รับเพียง 4,000 บาท น้อยกว่าโครงการเราชนะที่ได้รับวงเงินสูงสุด 7,000 บาท
แต่คุณสมบัติที่ว่า “มีเงินฝากรวมทุกบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท”ก็ทำให้คนที่ทำงานเก็บเงินมาทั้งชีวิต หรือคนที่เพิ่งรับมรดก เพิ่งรับค่าสินสอด ขายที่ดินได้ หรือเพิ่งถูกหวยชุดใหญ่ ได้แต่หัวเสียไปไม่น้อยเหมือนกัน
สำหรับการพิจารณาเกณฑ์เงินฝากเพื่อรับสิทธิโครงการเราชนะ หรือ ม.33 เรารักกัน จะคำนวณจากเงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก ใบรับฝากเงิน และผลิตภัณฑ์เงินฝากอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน
โดยคำนวณจากบัญชีเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์)
ไม่รวมคำนวณเงินฝากใน “บัญชีร่วม” “บัญชีเพื่อ” และสลากออมทรัพย์ เช่น สลากออมสิน, สลากออมทรัพย์ ธ.ก.ส., สลากออมทรัพย์ ธอส. และไม่รวมคำนวณเงินฝากในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศ
เมื่อหลักเกณฑ์ออกมาเป็นแบบนี้ ก็มีคนที่ไม่พอใจรัฐบาลอยู่บ้าง เช่น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มสร้างไทย ชี้ว่าผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะต้องเยียวยาทุกคนโดยเสมอภาค
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า การกำหนดเงื่อนไขเงินฝากในบัญชีธนาคารไม่เกิน 500,000 บาท มีช่องว่าง สร้างความไม่เท่าเทียม ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตน ที่จ่ายเงินสมทบเหมือนกัน แต่กลับได้รับสิทธิประโยชน์ไม่เท่ากัน
ส่วน กรณ์ จาติกวณิชหัวหน้าพรรคกล้า แม้จะไม่ได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์โครงการโดยตรง แต่น่าสนใจตรงที่ รัฐบาลมองข้ามประชาชนกลุ่มที่ “ไม่รวย แต่เสียภาษีให้รัฐ”ตลอด เช่น กลุ่มเอสเอ็มอี และคนมีรายได้ไม่เกิน 40,000 บาทต่อเดือน
กรณ์เสนอให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี ที่เป็นพลเมืองดีมาตลอดแต่วันนี้เดือดร้อน ด้วยการชดเชยรายได้ ใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เปรียบเทียบยอดขายระหว่างปี 2562 และปี 2563
ส่วนประชาชนที่จ่ายภาษีเงินได้มาโดยตลอด รัฐบาลควรเว้นภาษีเงินได้ทั้งหมดให้กับผู้เสียภาษีในกลุ่มที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 500,000 บาท และเสียภาษีในอัตราไม่เกิน 10% รวมประมาณ 3 ล้านคน เป็นเม็ดเงินภาษีประมาณ 50,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สุขาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ออกมาเคลียร์ถึงหลักเกณฑ์เงินฝากในโครงการ ม.33 เรารักกันผ่านสื่อมวลชน ระบุว่า โครงการนี้เกิดขึ้นเพราะสหภาพแรงงาน ผู้นำสภาองค์การลูกจ้างต่างๆ เรียกร้องให้เกิดขึ้น
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาจึงผลักดันโครงการ ม.33 เรารักกัน ตามข้อเรียกร้อง โดยใช้เงินกู้มาจากก้อนเดียวกับโครงการเราชนะ คือ “พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท” ไม่ใช่เงินกองทุนประกันสังคม
โครงการนี้กลุ่มผู้นำแรงงานเรียกร้องให้อย่าเอาเกณฑ์เงินเดือนไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี มาจับ เพราะจะทำให้คนที่มีเงินเดือน 25,000-26,000 บาท ในออฟฟิศเดียวจะไม่ได้รับเงินเยียวยา (ภาษาชาวบ้าน คือ จะแตกความสามัคคีในที่ทำงาน)
ส่วนเกณฑ์เงินฝากไม่เกิน 500,000 บาทนั้น กลุ่มผู้นำแรงงานรับได้ เพราะรู้อยู่แล้วว่ามีไม่กี่คนหรอกที่มีเงินเก็บถึง 500,000 บาท จึงเป็นที่มาของหลักเกณฑ์ที่แตกต่างจาก “โครงการเราชนะ” ก่อนหน้านี้
คาดว่า ม.33 เรารักกัน จะมีผู้ผ่านหลักเกณฑ์ 9 ล้านคน ใช้งบประมาณ 38,000 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์จะมี 2 ล้านคน นอกจากมีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทแล้ว ยังเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และแรงงานต่างชาติ