จากบทความก่อนหน้านี้ที่ได้อธิบายว่า ผู้ที่ออกตราสารหนี้สามารถออกได้โดย 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาครัฐ บริษัทเอกชน และองค์กรต่างประเทศ อย่างไรก็ตามตราสารหนี้ที่ออกเหล่านี้สามารถออกได้หลากหลายประเภทและมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับผู้ออกว่าต้องการกำหนดให้ตราสารหนี้แต่ละรุ่นมีลักษณะอย่างไรบ้าง
- ตราสารหนี้มีประกัน (Secured bond) ตราสารหนี้ประเภทนี้ผู้ออกจะนำสินทรัพย์ซึ่งอาจเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน ตึก หรือ สังหาริมทรัพย์ เช่น สินค้าในโรงงาน มาเป็นหลักประกันในการออก โดยผู้ลงทุนหรือผู้ถือจะมีบุริมสิทธิเหนือสินทรัพย์นั้น โดย ก.ล.ต. บังคับว่าหุ้นกู้ประเภทนี้จะต้องจัดให้มี “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” ทำหน้าที่แทนผู้ถือหุ้นกู้ในการรับจำนอง จำนำ หรือรับหลักประกัน และใช้สิทธิบังคับหลักประกัน รวมทั้งตรวจสอบสถานะของสินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันด้วยทำให้ตราสารหนี้ประเภทนี้จัดเป็นเจ้าหนี้ลำดับต้นๆ ที่มีสิทธิในการเรียกร้องชำระหนี้
การออกตราสารหนี้ประเภทนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้แก่นักลงทุน ในบางกรณีบริษัทเอกชนบางรายอาจมีฐานะทางการเงินไม่ดีพอที่จะดึงดูดนักลงทุนให้มาซื้อตราสารหนี้ได้ จึงต้องใช้หลักประกันมาช่วยเสริม หรือในกรณีที่เป็นการออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุนในการสร้างโครงการใดๆ ก็สามารถนำทรัพย์สินของโครงการนั้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ - ตราสารหนี้ไม่มีประกัน(Unsecured bond) ตราสารหนี้ประเภทนี้จะไม่ได้จัดให้มีหลักประกันใดๆ ในการออก โดยผู้ออกตราสารหนี้ชนิดนี้สามารถออกให้เป็นตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior bond) ซึ่งจะมีฐานะเทียบเท่าเจ้าหนี้สามัญทั่วไปของบริษัทหรืออาจออกให้เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated bond) ที่มีการกำหนดสิทธิของผู้ถือไว้ต่ำกว่าสิทธิของเจ้าหนี้สามัญทั่วไปก็ได้
2.2 ตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ (Seniorbond) ตราสารหนี้ประเภทนี้ นักลงทุนหรือผู้ถือจะมีสิทธิทัดเทียมกับเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆในการเรียกร้องให้ชำระหนี้ โดยได้สิทธิเรียกร้องก่อนผู้ถือตราสารหนี้ด้อยสิทธิ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และผู้ถือหุ้นสามัญตามลำดับ
2.1 ตราสารหนี้ด้อยสิทธิ (Subordinated bond) ตราสารหนี้ประเภทนี้ นักลงทุนหรือผู้ถือ แม้ว่าจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้แต่จะมีสิทธิที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆในการเรียกร้องการชำระหนี้จากบริษัทผู้ออกหากมีการผิดนัดชำระหนี้หรือล้มละลาย แต่ยังได้รับสิทธิเรียกร้องก่อนผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และหุ้นสามัญ
การแบ่งประเภทตราสารหนี้ตามสิทธิการเรียกร้องทั้งสองกรณีข้างต้นนี้ จะเกิดขึ้นเฉพาะในกรณีที่จะมีการเฉลี่ยทรัพย์หรือการชำระบัญชีบริษัท เนื่องจากบริษัทผู้ออกตราสารถูกพิทักษ์ทรัพย์ ถูกพิพากษาให้ล้มละลาย มีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ หรือกรณีอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. แต่ถ้าไม่มีกรณีดังกล่าว การชำระดอกเบี้ยและเงินต้นในระหว่างงวดหรือเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนจะเป็นไปตามปกติที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน
- ตราสารหนี้จ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed-rate bond) คือ ตราสารหนี้ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ตามที่ระบุไว้ตั้งแต่ตอนออกและจะคงที่ตลอดอายุของตราสารหนี้ โดยส่วนใหญ่ตราสารหนี้จะมีลักษณะการจ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่
- ตราสารหนี้จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating rate noteหรือ FRN) คือ ตราสารหนี้ที่กำหนดการจ่ายอัตราดอกเบี้ยแปรเปลี่ยนไปตามอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงหรือดัชนีอ้างอิง เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงหรือดัชนีอ้างอิงดังกล่าว จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้เปลี่ยนแปลงไปด้วย
ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้ออกตราสารหนี้ย่อมต้องการออกตราสารหนี้แบบจ่ายดอกเบี้ยคงที่เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ต้นทุนดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม ผู้ซื้อหรือนักลงทุนจะมีความต้องการในตราสารหนี้แบบดอกเบี้ยลอยตัว เพราะจะไม่เสียโอกาสที่จะได้รับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
ในทำนองเดียวกัน หากอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง นักลงทุนย่อมต้องการลงทุนในตราสารหนี้แบบจ่ายดอกเบี้ยคงที่ เพื่อล็อคผลตอบแทนไว้ไม่ให้ลดลงตามแนวโน้มดอกเบี้ยที่ลดลง ในขณะที่ผู้ออกก็จะอยากออกตราสารหนี้แบบจ่ายดอกเบี้ยลอยตัว เนื่องจากมีโอกาสจะที่ต้นทุนทางการเงินจะลดลงตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง
- ตราสารหนี้ประเภทจ่ายคืนเงินต้นเพียงครั้งเดียว ณ วันครบกำหนดไถ่ถอน (Bullet bond) ตราสารหนี้ประเภทนี้จะจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยในแต่ละงวดไปจนกว่าจะถึงงวดสุดท้ายที่ครบกำหนดไถ่ถอน จึงจะชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้ายให้แก่นักลงทุนหรือผู้ถือ
- หุ้นกู้ประเภททยอยจ่ายคืนเงินต้น (Amortizing bond) คือ ตราสารหนี้ประเภทที่ผู้ออกจะทยอยจ่ายคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือในแต่ละงวด แทนที่จะเป็นการจ่ายคืนเงินต้นครั้งเดียวเมื่อครบกำหนดอายุดังเช่นตราสารหนี้ปกติ
- ตราสารหนี้แปลงสภาพ (Convertible bond) เป็นตราสารหนี้ที่ให้สิทธิแก่นักลงทุนหรือผู้ถือในการแปลงสภาพจากตราสารหนี้ไปเป็นหุ้นสามัญตามอัตรา ราคาแปลงสภาพ และเวลาที่กำหนดไว้ หุ้นกู้ประเภทนี้จะได้รับความนิยมในช่วงที่ตลาดหุ้นมีแนวโน้มที่ดีเนื่องจากหากใช้สิทธิแปลงสภาพจะทำให้ได้ราคาหุ้นที่ต่ำกว่าในตลาด
- ตราสารหนี้ที่ผู้ออกมีสิทธิเรียกไถ่ถอนก่อนกำหนด (Callable bond) คือ ตราสารหนี้ที่ให้สิทธิแก่ผู้ออกในการเรียกคืน (call) หรือไถ่ถอนตราสารหนี้นั้นก่อนกำหนด ก่อนการลงทุนผู้ถือตราสารหนี้ควรจะต้องทราบเงื่อนไขการไถ่ถอนก่อนกำหนดนี้ด้วยเนื่องจากมีผลต่อผลตอบแทนของตราสารหนี้
โดยทั่วไปตราสารหนี้จะถูก Call ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลงจนทำให้ต้นทุนของตราสารหนี้เดิมนั้นสูงเกินควร หรือในกรณีที่อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกเพิ่มขึ้นทำให้สามารถออกตราสารใหม่ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตราสารหนี้เดิมของตน - ตราสารหนี้ที่ผู้ถือมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด (Puttable bond) หมายถึงตราสารหนี้ที่ให้สิทธิแก่ผู้ลงทุนหรือผู้ถือในการขอไถ่ถอนก่อนครบกำหนด โดยรายละเอียดของเงื่อนไขและวิธีการจะกำหนดล่วงหน้าตั้งแต่วันออกตราสารหนี้ เช่น การกำหนดว่าผู้ออกต้องดำรงอันดับความน่าเชื่อถือไม่ต่ำกว่าระดับใด และหากไม่สามารถทำได้ ผู้ถือตราสารมีสิทธิที่จะขอไถ่ถอนก่อนกำหนดเป็นต้น
- ตราสารหนี้จากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitized bond) คือ ตราสารหนี้ที่เกิดจากกระบวนการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) โดยส่วนใหญ่จะนำสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดกระแสเงินรับในอนาคตมาค้ำประกันการออกตราสารหนี้ เพื่อระดมทุนไปใช้ในการขยายโครงการลงทุนอื่นของบริษัทต่อไปการจ่ายดอกเบี้ยจะมาจากกระแสเงินสดที่ได้รับจากตัวสินทรัพย์ที่นำมาแปลงนั้น เช่น ค่าไฟฟ้าในอนาคต ค่าเดินทาง ลูกหนี้สินเชื่อต่างๆ โดยปกติตราสารหนี้ประเภทนี้จะมีอันดับความน่าเชื่อถือสูง เนื่องจากมีสินทรัพย์ค้ำประกัน หรือมีกระบวนการเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถืออื่น ๆ (Credit enhancement)
ในประเทศไทย เริ่มมีแนวโน้มที่จะมีการออกตราสารประเภทนี้เพิ่มมาขึ้นเรื่อยๆ โดยสถาบันการเงิน หรือ บริษัทที่ให้บริการสินเชื่อต่างๆมีการนำเอาสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเครดิตการ์ด สินเชื่อผ่อนบ้านมาแปลงเป็นหลักทรัพย์ ซึ่งตราสารหนี้ชนิดนี้ถือว่ามีความสำคัญเชิงเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการทำให้สินทรัพย์ที่เปลี่ยนมือได้ยากกลายเป็นหลักทรัพย์ที่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ง่าย จึงเป็นการเพิ่มสภาพคล่องแก่สถาบันการเงินต่าง ๆ ที่นำสินทรัพย์เหล่านี้มาแปลงเป็นหลักทรัพย์เป็นการช่วยลดภาระการดำรงเงินกองทุน และเพิ่มเงินสดสำหรับใช้ในการดำเนินกิจการต่อไป - ตราสารหนี้ประเภทไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (Perpetual Bond) คือตราสารหนี้ที่ไม่มีวันหมดอายุ โดยจะไม่มีการกำหนดวันไถ่ถอนคืนจนกว่าบริษัทจะเลิกกิจการ และจะมีการจ่ายดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องตามที่กำหนดตราสารหนี้ชนิดนี้จึงมีลักษณะกึ่งทุน อย่างไรก็ตามปัจจุบันพบว่าตราสารหนี้ประเภทนี้มักจะมีสิทธิแฝงให้ผู้ออกสามารถไถ่ถอนก่อนครบกำหนดได้ตามระยะเวลาที่ระบุ