สินทรัพย์ที่สามารถใช้ลงทุนได้นั้น แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ 1) สินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Physical asset) เช่น ที่ดิน คอนโดมิเนียม งานศิลปะ นาฬิกา เครื่องประดับ กระเป๋า รถโบราณ และ 2) สินทรัพย์ทางการเงินซึ่งจับต้องไม่ได้ (Financial asset)
ในส่วนของสินทรัพย์ทางการเงินนั้นสามารถแบ่งได้หลายประเภท ตามระดับความเสี่ยงและระดับของผลตอบแทนที่เป็นไปได้ ซึ่งระดับความเสี่ยงในที่นี้ หมายถึง โอกาสที่ราคาของสินทรัพย์ทางการเงินจะเปลี่ยนแปลงขึ้นลงในแต่ละช่วงเวลา เช่น ราคาหุ้นที่ขยับขึ้นลงในแต่ละวันแต่ละสัปดาห์ส่วนระดับของผลตอบแทนที่เป็นไปได้ หมายถึง อัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับหรือคาดว่าจะได้รับ เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ กำไรจากราคาหุ้น
เงินสด มีความเสี่ยงต่ำมาก เราถือเงินไว้เท่าไร ถ้าปลวกมอดไม่กินไปเสียก่อน หรือไม่ทำหายไปเสียก่อน เราก็ยังมีเงินจำนวนนั้นอยู่แน่นอน แต่ความแน่นอนนั้น ก็ต้องแลกมาด้วยการที่จะไม่ได้รับผลตอบแทนใด ๆ เลย (ไม่มีใครใส่เงินสดไว้ในกระเป๋าสตางค์นิ่ง ๆ แล้ววันรุ่งนี้มีเงินเพิ่มได้เอง) แถมในระยะยาว เงินยังมีมูลค่าลดลงเรื่อย ๆ ตามราคาสินคาที่เพิ่มขึ้น เช่น เงินห้าสิบบาทเมื่อสิบปีที่แล้ว อาจจะซื้อข้าวแกงทานได้หลายวัน แต่เดี๋ยวนี้ มื้อเดียวยังแทบจะไม่ได้ เท่ากับว่า เงินสดที่มีอยู่ มีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยน้อยลง
เงินฝากธนาคาร ก็มีความเสี่ยงต่ำมากเช่นกัน เราฝากเงินไว้เท่าไร เมื่อเราต้องการถอนคืนจากธนาคารก็จะได้เงินจำนวนนั้นคืนค่อนข้างแน่นอน แต่ที่บอกว่า “ค่อนข้าง” ก็เพราะว่า ยังมีโอกาสที่ธนาคารนั้นมีฐานะการเงินย่ำแย่หรือมีปัญหาด้านสภาพคล่อง จนไม่สามารถคืนเงินให้เราได้ ในส่วนของผลตอบแทนก็ต่ำเช่นกัน อย่างเช่นในยุคปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์อยู่ในระดับไม่ถึง 1% ต่อปี แต่ถึงแม้ผลตอบแทนจะต่ำ เจ้าของเงินก็ยังรู้ชัดเจนว่าจะได้ผลตอบแทนเท่าไรและเมื่อไร
ตราสารหนี้ภาครัฐ ซึ่งก็คือเอกสารที่ภาครัฐออกให้เป็นหลักฐานว่าได้กู้ยืมเงิน (เป็นหนี้) จากนักลงทุนทั่วไป ในด้านของความเสี่ยงที่เจ้าหนี้จะไม่ได้รับเงินคืนนั้น อยู่ในระดับต่ำ เพราะภาครัฐมีความสามารถหารายรับจากเงินภาษีแถมยังสามารถกู้เงินใหม่มาใช้คืนเงินกู้เดิมได้ด้วย ในด้านของความผันผวนของราคาตราสารหนี้ชนิดนี้ ก็ยังอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน แต่ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐก็จะอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน ดังเช่นในยุคปัจจุบันนี้ การให้รัฐบาลกู้ยืมเป็นระยะเวลา 10 ปี (ด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุ 10 ปี) จะได้ผลตอบแทนเพียง 54% ต่อปีเท่านั้น
ตราสารหนี้ภาคเอกชน ก็คือเอกสารที่บริษัทเอกชนออกให้เป็นหลักฐานว่าได้กู้ยืมเงินจากนักลงทุน ซึ่งระดับความเสี่ยงว่าจะได้รับคืนเงินที่ให้กู้ยืมไปหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินของบริษัทผู้กู้ยืมเป็นสำคัญ ซึ่งในอดีตก็มีเหตุการณ์จริงเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวว่าเกิดการเบี้ยวหนี้ตราสารหนี้ เช่นนั้นแล้ว ผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนจึงแตกต่างกันไปตามระดับความน่าเชื่อถือ (ว่าจะสามารถใช้หนี้คืนได้ครบถ้วน) ของบริษัทผู้กู้ยืม ตัวอย่างเช่น การลงทุนในตราสารหนี้ที่มีระดับความน่าเชื่อถือสูงสุด (ระดับ AAA) อายุ 10 ปี จะได้ผลตอบแทนประมาณ 2.10% ต่อปี ในขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้ที่มีระดับความน่าเชื่อถือต่ำลงมา (เช่นระดับ A) อายุ 10 ปี จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็น 3.70% ต่อปี
หุ้นสามัญ คือเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของในธุรกิจ ราคาหุ้นสามัญโดยเฉพาะที่สามารถซื้อขายกันได้ในตลาดหลักทรัพย์นั้นก็จะขยับขึ้นลงได้รายวัน เปลี่ยนไปตามปัจจัยต่าง ๆ มากมายที่เข้ามากระทบ เช่น ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การควบรวมธุรกิจ การประกาศกำไรขาดทุน และเมื่อมีปัจจัยมากมายที่รายล้อมอยู่ ความเสี่ยงด้านราคาของหุ้นสามัญจึงมีสูงมาก เพียงข้ามคืนสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ถึงหลักสิบเปอร์เซนต์ ทั้งในฝั่งได้กำไรและขาดทุน แต่กระนั้น ในระยะยาวแล้ว การลงทุนในหุ้นสามัญ ของธุรกิจที่มีการเติบโต ก็อาจสร้างผลตอบแทนในระดับที่สูงมาก ไม่ใช่แค่หลักสิบเปอร์เซนต์ แต่ว่ากันที่หลัก “หลายเท่าตัว” (หนึ่งเท่าตัวคือการได้ผลตอบแทน 100%) นักลงทุนจำนวนมากสามารถเปลี่ยนชีวิตได้จากหน้ามือเป็นหลังมือ ทั้งที่จากเคยรวยเป็นหมดตัว และที่จากจนเป็นรวยมหาศาล ก็เพราะการลงทุนในหุ้นสามัญนี่เอง
เงินสกุลต่างประเทศ ก็นับเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่ใช้ลงทุนได้เช่นกัน เนื่องจากการถือเงินสกุลต่างประเทศไปสักช่วงเวลาหนึ่งนั้น สามารถสร้างผลกำไร(หรือขาดทุน) ได้ เช่น ตอนแรกเงิน 3,500 บาท ใช้แลกซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาได้ 100 เหรียญ ซึ่งเท่ากับว่า อัตราแลกเปลี่ยน หรือ “ราคาของเงิน” ในขณะนั้นคือ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ต่อมา ราคาของเงินขยับไปเป็น 40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และเนื่องจากเรามีเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาอยู่ 100 เหรียญ ก็เท่ากับว่าการลงทุนนี้ได้เพิ่มค่าเป็น 4,000 บาท หรือได้กำไร 500 บาท อย่างไรก็ดี มีปัจจัยมากมาย ที่จะทำให้ราคาของเงินสกุลต่างประเทศเปลี่ยนแปลงไป เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลก ปริมาณการค้าระหว่างประเทศ และกระแสเงินไหลเข้าออกระหว่างประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ซึ่งทำให้ การลงทุนในเงินสกุลต่างประเทศมีความเสี่ยงสูง จึงเป็นเหตุให้การคาดการณ์อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนประเภทนี้ ทำได้ยาก
สัญญาอนุพันธ์ เป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่ราคาจะแปรเปลี่ยนไปตามสินทรัพย์อย่างหนึ่ง ซึ่งในทางการเงินเรียกสินทรัพย์หลักนั้นว่า “สินทรัพย์อ้างอิง” และระดับการเปลี่ยนแปลงของราคาอนุพันธ์นั้น มักจะเป็นทวีคูณของราคาสินทรัพย์อ้างอิง เช่น ถ้าสินทรัพย์ราคาเพิ่มขึ้น 10% ราคาของอนุพันธ์จะเพิ่มขึ้น 50% ทำให้การลงทุนในอนุพันธ์มีความเสี่ยงสูงมาก คืออาจจะลงทุนผิดทิศทางจนขนาดทุนมหาศาลก็ได้ แต่ก็มาพร้อมกับโอกาสในการได้ผลตอบแทนที่สูงมากเช่นกัน ซึ่งสินทรัพย์มีคนนำมาใช้เป็นสินทรัพย์อ้างอิงของอนุพันธ์นั้น ก็มีหลากหลาย เรียกได้ว่าแทบจะครอบคลุมสินทรัพย์ทุกประเภท ทั้งหุ้นสามัญ ตราสารหนี้ ทองคำ เงินสกุลต่างประเทศ น้ำมันดิบ
โดยตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น คือ “การลงทุนโดยตรง” ในสินทรัพย์ทางการเงิน หมายถึงว่า เราจะสามารถเลือกซื้อสินทรัพย์ได้เป็นรายตัวชัดเจน เช่น ซื้อหุ้น 10 หุ้น ซื้อเงินปอนด์ 10 ปอนด์ แต่อย่างไรก็ดี การลงทุนในสินทรัพย์เป็นรายตัว หากต้องการลงทุนในสินทรัพย์หลายตัวพร้อม ๆ กัน เช่น หุ้น 100 ตัว หรือต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่กำหนดว่าต้องใช้เงินลงทุนขั้นต่ำเป็นจำนวนเงินสูง เช่น ตราสารหนี้เอกชนบางตัวต้องซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท ก็อาจทำให้นักลงทุนไม่สามารถซื้อลงทุนได้จริงตามที่ต้องการ จึงเป็นที่มาของการลงทุนในกองทุนรวม