พันธบัตร พันธบัตร (Bond) เป็นสัญญาที่ออกโดยผู้ขอกู้ยืม โดยจะมีสัญญาข้อผูกมัดที่ว่า ผู้ออกพันธบัตร (หรือผู้ขอกู้ยืม) จะต้องจ่ายผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) ให้กับผู้ถือพันธบัตร (ผู้ให้กู้) ตามอัตรา และระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพันธบัตร
ชนิดของพันธบัตร
พันธบัตรที่ไม่ระบุดอกเบี้ย (Zero Coupon Bond) : พันธบัตรที่ไม่มีการจ่ายผลตอบแทน หรือดอกเบี้ยให้กับผู้ถือเป็นงวดๆ หากแต่จะจ่ายในรูปของภารรับซื้อคืนในราคาที่สูงขึ้น จากราคาที่ผู้ออกขายให้ผู้ถือในตอนแรก ณ วันครบกำหนดไถ่ถอน
พันธบัตรที่ระบุดอกเบี้ย (Coupon Bond) : พันธบัตรที่มีสัญญาข้อผูกมัดที่ว่า ผู้ออกพันธบัตรจะต้องจ่ายผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) ให้กับผู้ถือพันธบัตรตามอัตรา และระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพันธบัตร และรับซื้อพันธบัตรคืนที่ราคาหน้าตั๋วที่วันครบกำหนดอายุไถ่ถอน
พันธบัตรที่มีการจ่ายดอกเบี้ยในแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating rate bond) : พันธบัตรที่ลดอัตราเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยของผู้ถือพันธบัตรให้ต่ำที่สุด โดยอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ออกพันธบัตรจะจ่ายให้กับผู้ถือนั้น จะเป็นอัตราที่สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยของตลาดขณะนั้น
พันธบัตรที่สามารถเรียกคืนได้ (Callable bond) : พันธบัตรที่ผู้ออกสามารถขอซื้อคืนตามราคาที่กำหนดไว้ก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอน
พันธบัตรที่มีในตลาด
พันธบัตรรัฐบาล (Government Bond) : ตราสารหนี้ทั้งระยะสั้น และยาว ซึ่งออกโดยกระทรวงการคลัง และบริหารโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise Bond) : ตราสารหนี้ทั้งระยะสั้น และยาว ซึ่งออกโดยรัฐวิสาหกิจ และบริหารโดยสำนักบริหารหนี้สาธารณะ
หุ้นกู้ (Corporate Bond) : ตราสารหนี้ทั้งระยะสั้น และยาว ซึ่งออกโดยบริษัทเอกชน โดยทั่วไปจะจ่ายดอกเบี้ย 2 งวดต่อปี และไถ่ถอนคืนเมื่อถึงวันครบกำหนดไถ่ถอน
ตั๋วเงินคลัง (T-Bills) : ตราสารหนี้ระยะสั้นที่ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งผลตอบแทนของตราสารหนี้ชนิดนี้จะออกมาในรูปแบบ การรับซื้อคืนในราคาที่สูงขึ้นจากราคาที่ผู้ออกขายให้ผู้ถือในตอนแรก
การซื้อขายพันธบัตร
ตลาดแรกหรือตลาดพันธบัตรออกใหม่ (Primary Market) เป็นแหล่งกลางในการเสนอขาย และซื้อพันธบัตรที่ออกใหม่ โดยจะเสนอขายให้กับนักลงทุนบางประเภท
ตลาดรองหรือตลาดค้าพันธบัตร (Secondary Market) เป็นแหล่งกลางในการเสนอขาย และซื้อพันธบัตร ที่เคยผ่านการซื้อขายในตลาดแรกมาแล้ว ตลาดรองจะช่วยให้ผู้ลงทุนมีสภาพคล่องมากขึ้น
โดยจะมีสถาบันการเงินธนาคารพาณิชย์ และนายหน้าค้าหลักทรัพย์เป็นคนกลางในการซื้อขายพันธบัตรระหว่างผู้ลงทุน
การแปลงพันธบัตรเป็นเงินสด ผู้ลงทุนที่ถือพันธบัตรสามารถขายพันธบัตรได้ทุกเมื่อ ณ ราคาที่ซึ่งจะตกลงระหว่างตัวผู้ถือ และผู้ที่จะซื้อต่อจากผู้ถือ โดยสามารถซื้อขายได้ในตลาดรอง
คำจำกัดความต่างๆ
ดอกเบี้ย (Coupon) อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ออกพันธบัตร สัญญาว่าจะจ่ายให้กับผู้ถือพันธบัตรเป็นงวดๆตลอดจนกระทั่งถึงวันครบกำหนดไถ่ถอน เช่น พันธบัตรที่มีราคาหน้าตั๋ว 1,000 บาท และกำหนดดอกเบี้ย 10% แสดงว่าผู้ถือพันธบัตรจะได้รับดอกเบี้ย 10 % ของเงินต้น 1,000 บาท นั่นคือ ทุกปีจะได้รับดอกเบี้ย 100 บาท นั่นเอง
วันครบกำหนดไถ่ถอน (Maturity Date) ระยะเวลาครบกำหนดที่ผู้ออกพันธบัตรจะไถ่ถอนพันธบัตรคืนหรือจ่ายเงินต้นคืนแก่ผู้ถือพันธบัตร ซึ่งระยะเวลาไถ่ถอนนี้อาจมีระยะเวลาตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรจนครบกำหนด (Yield to Maturity) อัตราลดที่ทำให้มูลค่าปัจจุบันของดอกเบี้ยรับรายงวด และราคาที่ตราไว้เท่ากับราคาตลาด ปัจจุบันของพันธบัตรโดยถือว่าผู้ลงทุนจะถือพันธบัตรไปจนครบกำหนดไถ่ถอนผู้ออกพันธบัตร สามารถทำตามสัญญาในพันธบัตรได้ตามกำหนด และถือว่ามีการนำดอกเบี้ยรับไปลงทุนต่อ
ดูเรชั่น (Duration) วิธีการวัดว่าพันธบัตรมีความไหวตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับอัตราดอกเบี้ยมากน้อยเพียงใด
ส่วนต่าง (Spread) ความแตกต่างของอัตราผลตอบแทนระหว่างพันธบัตรชนิดเดียวกัน มีคุณสมบัติเหมือนกันแต่มีอายุไถ่ถอนต่างกัน หรือพันธบัตรที่มีอายุไถ่ถอนเท่ากันแต่มีคุณสมบัติต่างกัน เนื่องจากพันธบัตรโดยทั่วไปถ้ามีข้อแตกต่างกันไม่ว่าด้านใดๆ มักจะมีอัตราผลตอบแทนที่ไม่เท่ากัน
ความไม่สามารถชำระหนี้ (Default) การที่ผู้ออกไม่สามารถชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นได้เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน
ผู้รับฝากทรัพย์สิน (Custodian) ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เป็นผู้เก็บรักษาใบหุ้นหรือสินทรัพย์อื่น ของกองทุนรวม, บุคคลธรรมดา หรือลูกค้าสถาบัน
วันที่ตกลงทำสัญญาซื้อขาย (Spot Date) ภายหลังวันที่ซื้อ-ขาย 2 วันทำการ
ความเสี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้
ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย
เมื่อระดับอัตราดอกเบี้ยโดยทั่วไปเปลี่ยนแปลง จะส่งผลกระทบต่อราคาตราสารหนี้ที่ระบุดอกเบี้ยตายตัวในทิศทางตรงกันข้าม ทั้งนี้เนื่องจากเมื่ออัตราดอกเบี้ยตลาดสูงขึ้นหรือต่ำลง ในขณะที่ตราสารหนี้มีอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ตายตัวผู้ลงทุนย่อมต้องการซื้อตราสารหนี้ในราคาที่ต่ำหรือสูงขึ้น เพื่อดำรงระดับอัตราผลตอบแทนตามระดับอัตราดอกเบี้ยตลาดการเปลี่ยนแปลงของราคาตราสารหนี้อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในระดับอัตราดอกเบี้ยตลาดเรียกสั้น ๆ ว่า ความเสี่ยงด้านราคา (price risk) โดยตราสารหนี้ที่มีอายุครบกำหนดไถ่ถอนต่างกัน และหรือมีระดับอัตราดอกเบี้ยที่ตราไว้แตกต่างกัน จะมีขนาดของการเปลี่ยนแปลงไม่เท่ากัน ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงในระดับอัตราดอกเบี้ยตลาดที่มีต่อตราสารหนี้อีกด้านหนึ่ง ได้แก่ ทำให้การลงทุนต่อได้รับอัตราผลตอบแทนที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย เรียกสั้นๆ ว่า ความเสี่ยงด้านการลงทุนต่อ (reinvestment risk) ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยทั้งสองด้านนี้ เรียกโดยรวมว่า ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย (interest rate risk) โดยผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยต่อราคาหุ้นกู้ และการลงทุนต่อ เป็นไปในทิศทางตรงกันข้างกัน ผู้ลงทุนจึงอาจปกป้องความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ โดยวิธีการเลือกอายุของตราสารหนี้ให้เหมาะสมกับระยะเวลาลงทุน
ความเสี่ยงจากอายุไถ่ถอน
ตามปกติตราสารหนี้ที่มีอายุไถ่ถอนยาว ควรให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้ที่มีอายุไถ่ถอนสั้นกว่า เนื่องจากตราสารหนี้ที่มีอายุไถ่ถอนยาวกว่าย่อมเผชิญกับความไม่แน่นอนมากกว่า อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่มีการคาดการณ์เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนไป ทำให้ความเหมาะสมในการเลือกอายุที่เหมาะสมของหุ้นกู้เปลี่ยนไปด้วย เช่น ในสถานการณ์ที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง อันทำให้ผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้นสูงกว่าอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะยาว (ภาวะที่ Yield curve ทอดลง) ส่วนในสถานการณ์ที่มีการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น อันทำให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะยาวสูงกว่าอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้น (ภาวะที่ Yield curve ทอดขึ้น)
ความเสี่ยงจากการถูกเรียกไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด
ตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้บางฉบับ มีข้อกำหนดเปิดทางให้ผู้ออกสามารถเรียกไถ่ถอนหุ้นกู้ได้ก่อนเวลาครบกำหนด (มี Call provision) ผู้ออกหุ้นกู้อาจจะบรรจุข้อกำหนดนี้ในเงื่อนไขของหุ้นกู้ เพื่อให้ผู้ออกมีความยืดหยุ่นในการจัดหาเงินทุนใหม่ เมื่ออัตราดอกเบี้ยตลาดลดลงเหลือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ตราไว้ในหุ้นกู้ในแง่ของผู้ถือหุ้นกู้ ข้อกำหนดเรื่องการเรียกไถ่ถอนคืนก่อนกำหนดมีข้อเสีย 3 ประการคือ
ประการแรก ประการที่สอง ประการสุดท้าย
กระแสเงินสดรับจากหุ้นกู้มีความไม่แน่นอน เนื่องจากผู้ออกจะเรียกไถ่ถอนคืนเมื่อระดับอัตราดอกเบี้ยตลาดลดต่ำลง ดังนั้นเมื่อผู้ลงทุนจะลงทุนต่อย่อมได้ผลตอบแทนที่ต่ำลงด้วย แม้ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยตลาดต่ำลงจะส่งผลในราคาหุ้นกู้โดยทั่วไปสูงขึ้น แต่สำหรับหุ้นกู้ที่มีข้อกำหนดเรื่องการไถ่ถอนคืนก่อนกำหนดอยู่ราคาจะไม่สูงขึ้นมากเพราะในสภาวะเช่นนี้ผู้ออกอาจเรียกไถ่ถอนหุ้นกู้ก็ได
ความเสี่ยงจากการไม่ได้รับเงินต้น และดอกเบี้ยตามกำหนด
ความเสี่ยงจากการไม่ได้รับเงินต้น และดอกเบี้ยตามกำหนด (Default risk) เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายนอก และปัจจัยภายในกิจการ สาเหตุที่กิจการผู้ออกตราสารหนี้ไม่สามารถชำระคืนเงินต้น และหรือไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยได้ตามกำหนดเวลา มาจากการที่กิจการนั้นมีความเสี่ยงจากการดำเนินงานของธุรกิจหรือ ความเสี่ยงทางธุรกิจ (Business risk) และความเสี่ยงทางการเงิน (Financial risk) อยู่
ความเสี่ยงทางธุรกิจ (Business risk) หมายถึง ความไม่แน่นอนของกระแสเงินได้อันเนื่องมาจากลักษณะทางธุรกิจของกิจการ บางธุรกิจต้องใช้ต้นทุนที่เป็นสัดส่วนสูงในการดำเนินงานเมื่อเกิดความผันผวนในยอดขายกำไรของการดำเนินงานของธุรกิจย่อมมีความผันผวนมากกว่าธุรกิจที่ใช้ต้นทุนคงที่ในการดำเนินงานเป็นสัดส่วนต่ำ ผลของต้นทุนคงที่ ที่มีต่อความผันผวนของกำไรจากการดำเนินงาน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในยอดขายเรียกว่า Operating Leverage
ความเสี่ยงทางการเงิน (Financial risk) หมายถึง ความไม่แน่นอนของกระแสเงินได้ อันเนื่องมาจากโครงสร้างของเงินทุนของธุรกิจ ถ้าหากธุรกิจจัดหาเงินทุนโดยการกู้ยืม อันมีภาระการจ่ายดอกเบี้ยซึ่งเป็นภาระผูกพันทางการเงินที่คงที่ จะเกิดความผันผวนของกำไรสุทธิมากเมื่อกำไรจากการดำเนินงานเปลี่ยนแปลง ผลของการก่อหนี้ที่มีต่อความผันผวนของกำไรสุทธิ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในกำไรจากการดำเนินงานเรียกว่า Financial Leverage
การจัดลำดับคุณภาพของหุ้นกู้ (Bond Rating) เป็นการจัดลำดับโดยวิเคราะห์จากโอกาสที่หุ้นกู้นั้นไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ย และเงินต้นได้ตามกำหนด หุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงประเภทนี้สูงจะเสนออัตราผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงประเภทนี้ต่ำ
ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) หมายถึง ความไม่แน่นอนของการลงทุนอันเนื่องมาจากไม่อาจเปลี่ยนหลักทรัพย์ที่ลงทุนเป็นเงินสดได้ในเวลาที่รวดเร็วโดยไม่ขาดทุน ลักษณะความเสี่ยงประเภทนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ใช้ในการเปลี่ยนหลักทรัพย์นั้นเป็นเงินสดราคาขายหลักทรัพย์ที่จะได้รับ สำหรับผู้ลงทุนที่มุ่งที่จะถือตราสารหนี้ไปจนครบกำหนดไถ่ถอน ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของหลักทรัพย์ก็จะด้อยความสำคัญลงไป ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง สามารถดูได้จากช่วงห่างระหว่างราคาเสนอซื้อกับราคาเสนอขาย (bid-ask spread ) หากมีช่วงห่างสูง แสดงว่ามีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องมาก
ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
สำหรับผู้ลงทุนในตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ย และเงินต้นในรูปเงินตราต่างประเทศ จะมี ความเสี่ยงจากการที่อัตราแลกเปลี่ยนจะเปลี่ยนแปลงไป (Exchange rate risk) เช่นลงทุนในหุ้นกู้จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจ่ายดอกเบี้ย และเงินต้นคืนในรูปเงินเยน เมื่อค่าของเงินเยนอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินบาท ทำให้ผลตอบแทนในรูปเงินบาทได้น้อยลงกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตามหากค่าเงินเยนแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินบาท ผู้ลงทุนจะได้รับประโยชน์มากขึ้นในรูปเงินบาท
ความเสี่ยงจากกฎระเบียบของรัฐ
ความเสี่ยงจากกฎระเบียบของรัฐ (Legal risk) เป็นความเสี่ยงอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในตราสารหนี้ เช่น เปลี่ยนแปลงวิธีการเก็บภาษีเงินได้จากตราสารหนี้จากไม่เคยจัดเก็บมาเป็นจัดเก็บภาษี หรือเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีเงินได้ เป็นต้น